สาระความรู้

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า Generation Alpha

คือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมาเป็นกลุ่มคนรุ่นลูกของคนกลุ่ม Generation Y และ Z ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ในช่วงปฐมวัย กำลังเป็นเด็กอนุบาลที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอายุมาก มีลูกน้อย มีเงินทองที่ไม่ต้องดิ้นรนมากเท่ารุ่นอื่น จับอุปกรณ์ดิจิตอล สัมผัสเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรกเกิด เรียนมาก ใช้เวลาเรียนนานและเรียนรู้อย่างหลากหลาย เติบโตขึ้นมาในสังคมทุนนิยม มีแนวโน้มเป็นคนวัตถุนิยม คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง เบื่อง่ายและความอดทนต่ำ นิยมความรวดเร็วทันใจ จึงมองหาสูตรความสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
เด็กเจเนอเรชั่นรุ่นอัลฟ่าใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการปฏิสัมพันธ์กับบ้าน โรงเรียน วัด น้อยลงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตนเอง ความรัก ความผูกพันในครอบครัวและสังคมมีน้อยลง เมื่อไม่มีความรักความผูกพันแล้ว ความเอื้ออาทรก็จะไม่มี สังคมที่มีสภาพเช่นนี้นี้ก็จะเป็นสังคมที่มีปัญหา
“ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีประชากรซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า เพิ่มขึ้นราว 1,590 ล้านคน ดังนั้น ยุคนี้จึงถือเป็นยุคที่เจนเนอเรชั่น อัลฟ่า ขับเคลื่อนโลกก็ว่าได้ เจนเนอเรชั่น อัลฟ่า เป็นเด็กยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เรียนรู้เร็ว ปรับตัวเก่ง แต่มีแนวโน้มที่จะมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น และเป็นตัวของตัวเองสูง ในสภาวะที่สังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ทักษะสำคัญที่ลูกเจนเนอเรชั่น อัลฟ่า จำเป็นต้องมี เรียกว่า 7 Essential Skills ซึ่งประกอบไปด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเป็น (Critical Thinking and Problem Solving), การคิดในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking), ความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล (Digital Wisdom), การรู้จักปรับตัวและการทำงานเป็นทีม (Collaboration), ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (Resilience), การสื่อสารชัดเจน มีประสิทธิภาพ (Communication) และความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น (Compassion) ทักษะเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้ลูกสามารถปรับตัวและเรียนรู้การใช้ ชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์และสังคมวัตถุนิยม

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างทักษะทั้ง 7 ประการนี้ให้แก่ลูก คุณพ่อคุณแม่เองก็จำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ด้วยเช่นกัน โดยการสวมบทบาท Be 5 ที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรเป็นได้แก่ นักคิดสร้างสรรค์(Be Creator) เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพใหม่ๆ ให้แก่ลูก, นักเรียนรู้ (Be Learner) เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ให้แก่ลูกอย่างต่อเนื่อง, นักสื่อสาร(Be Communicator) เพื่อทักษะในการเจรจาพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจด้วยเหตุและผล, นักจัดกระบวนการเรียนรู้(Be Facilitator) เพื่อสร้างแรงบันดาลและส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ของลูก และนักพัฒนา(Be Developer) เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกได้อย่างเต็มศักยภาพ

แล้วเราจะช่วยเหลือลูกหลานของเราอย่างไรดี

ปัจจุบันสังคมมีความเป็นพลวัตสูงมาก มีสังคมใหม่เกิดขึ้นคือ สังคมกลางอากาศซึ่งเป็นสังคมไร้พรมแดน เด็กยุคนี้อยู่กับเทคโนโลยีมากกว่าบ้าน วัด โรงเรียน ไม่เหมือนเด็กยุคก่อน เด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าคือเด็กที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป เด็กกลุ่มนี้อยู่กับสังคมทุนนิยม สัมผัสเทคโนโลยีตั้งแต่เกิด คุ้นเคยกับภาวการณ์แข่งขันตลอดเวลา จนมีนิยามว่า The Ipad generation (Ananya, 2015,หน้า 6-7) ซึ่งเด็กจำนวนมากเมื่อเติบโตขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นพวกวัตถุนิยม มีลักษณะรวดเร็ว ทันใจ คุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลงและมีความอดทนต่ำ มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งระบบวิธีคิดและพฤติกรรมที่แสดงออก มิได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมของคุณธรรมและจริยธรรมอย่างชัดเจน (เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์, 2547 หน้า 1) จึงเป็นต้นเหตุของการผิดพลาดทั้งแง่ของวัฒนธรรมและจริยธรรม(UNESCO,2008 page 22-23) ซึ่ง สุริยเดว ทรีปาตี(2557) ได้อธิบายเกี่ยวกับเด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าว่า เขารู้จักแต่สังคมที่มีเทคโนโลยี เกิดมาก็มีแต่การแข่งขันกัน และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเรากำลังเปลี่ยนไปในแนวของดิจิตอลเวิลด์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่เปิดรับสื่อ มีตัวอย่างที่บางบ้าน พ่อแม่ตั้งกฎไว้ว่า ถ้าลูกอายุน้อยกว่า 18 ปี ไม่ให้ดูทีวี หรือเล่นโทรศัพท์ โดยเมื่อเข้าบ้านให้เอาโทรศัพท์มากองไว้ที่ศูนย์กลาง แต่ก็ไม่ได้เป็นกลไกในการป้องกัน สุดท้ายก็ตกเป็นเครื่องมือ มีปัญหาเพราะรู้ไม่เท่าทัน อ่อนต่อโลกไป เด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าจึงมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ทั้งพ่อแม่และชุมชน มีปัญหาทักษะการสื่อสาร เพราะขาดการสื่อสารกันด้วยแววตา  กายสัมผัส วลีสัมผัส การที่ขาดตรงนี้ทำให้เป็นเด็กไม่มีน้ำใจ ไม่รู้จักความเอื้ออาทร ที่สำคัญหากเด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าไม่ได้รับการพัฒนา เขาจะอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น ความผูกพันกับองค์กรและถิ่นฐานเดิมไม่มี ฉะนั้นเขาอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ประเทศไทยก็ได้ รากเหง้าวัฒนธรรมตัวเองอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ทักษะการสื่อสารก็ไม่มี กลายเป็นโลกแห่งดิจิตอลเทคโนโลยีหมด คุมไม่ได้ ซึ่งกระแสโซเชียลมีเดียหากรู้ไม่ทันก็โดนล่อลวง สภาพแบบนี้มันจะเกิดขึ้นอีกมากหากเราไม่รับมือ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้สภาพของสังคมกลายเป็นสิ่งที่อยู่กลางอากาศหรือไร้พรมแดน ทั้งจากโซเชียลเน็ตเวิร์คและโซเชียลมีเดียที่อยู่ในมือ ส่งผลให้เด็กในยุคนี้ยึดติดกับตัวเอง ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

กลุ่มเจเนอเรชั่นอัลฟ่าในปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาปฐมวัย ซึ่งเด็กปฐมวัยมีอัตราการเจริญเติบโตทุกด้านทั้งร่างกาย สังคม จิตใจและปัญญา เป็นช่วงเวลาที่โอกาสทองของการเรียนรู้เปิดกว้างเต็มที่  จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในช่วงวัยที่เหมาะสม ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ไปแล้ว การพัฒนาในภายหลังจะทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลนั้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี เป็นวัยที่จะรับกฎเกณฑ์และมาตรฐานทางจริยธรรมจากบิดามารดาและครู ในช่วงปฐมวัยนี้จึงถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการอบรมกล่อมเกลาและปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี

เครือข่ายความร่วมมือของครอบครัวและโรงเรียน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะร่วมกันแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกันเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ควรต้องร่วมกันหาทางรับมือกับสิ่งใหม่ๆ พัฒนาศักยภาพของเด็กและรวมทั้งไม่ให้เด็กๆ กลายเป็นพวกวัตถุนิยม บริโภคนิยม โดยการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็ก เพราะโลกในยุคปัจจุบันเป็นทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือน ท่ามกลางสังคมแบบนี้ทำให้เด็กจำเป็นต้องอยู่คู่กับโลกทั้งสองแบบ ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ต้องสอนให้เด็กมีความรู้เท่าทัน พัฒนาทักษะการรู้คิด และสร้างจิตสำนึกที่ดี เพื่อเด็กจะได้เกิดวิธีคิดที่ดีและถูกต้อง รู้จักการเสียสละ รู้จักการแบ่งบันมี เป็นครอบครัวแห่งประชาธิปไตยและนำไปสู่สังคมน่าอยู่ ไม่ใช่สังคมแบบตัวใครตัวมันอย่างที่เห็นได้ในทุกวันนี้ ตลอดจนชักชวนกันเป็นสังคมแห่งจิตอาสามีการพัฒนาอย่างยั่งยืนกันทั้งประเทศ (http://www.motherandcare.in.th/generation-alpha/)

วรนาท รักสกุลไทย(2558)  ได้กล่าวถึงทักษะสำคัญของเด็กยุค Generation Alpha ไว้ดังนี้

  1. ทักษะการสื่อสารในเด็กเล็กจะเน้นภาษาท่าทางเป็นหลัก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจตีความและใส่ใจภาษาของลูก ต้องให้เขาเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสม เราสามารถกระตุ้นให้เขาพัฒนาการใช้ภาษา และสอนให้เขารู้จักวิธีแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งอาจเกิดปัญหาในการใช้คำพูดไม่ถูกหรือผิดกาลเทศะบ่อยๆ เด็กสับสนว่าทำไมครูที่โรงเรียนบอกพูดอย่างนี้ไม่ได้แต่พ่อแม่ไม่ห้ามหรือมองเป็นความน่ารักไป
  2. ทักษะการแก้ปัญหา ควรสอนการแก้ปัญหาให้เหมาะกับสถานการณ์ ต้องไม่ใช้กำลังเอาชนะ สังเกตพบว่าเด็กๆ หลายคนจะมือไว เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็มือไวไม่ได้ดังใจก็ตีลูกทันที ลูกซึมซับจากต้นแบบไป เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องใจเย็นและระมัดระวังในการแสดงออก ไม่ก้าวร้าว
  3. ทักษะคิด สำหรับการเสพติดเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นปัญหากับเด็ก Gen Alpha ยิ่งกว่ายุคที่ผ่านๆ มา ควรตั้งต้นปรับจากวิธีคิดแทนที่จะบอกลูกว่าแท็บเล็ตไม่ดี ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นฝึกให้เขาเรียนรู้การเคารพกติกา ควบคุมเวลาเล่น เช่นให้เล่นแค่ 10 นาที ก็ต้องทำแบบนั้นทุกวันห้ามต่อเนื่องนานเกินกว่าที่กำหนดไว้และควรอธิบายผลเสียจากการเล่นแท็บเล็ตนานเกินไป เช่น สายตาเสีย หรืออ้วน อาจหาภาพเป็นรูปธรรมให้ลูกเห็น เช่น รูปเด็กใส่แว่นตา เด็กอ้วน หรือไปหาหมอ แต่เมื่อห้ามเล่นเป็นเวลานานแล้วก็ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทนกัน ต้องมีกิจกรรมสนุกให้เขาทำไม่ใช่ห้ามเพียงอย่างเดียว”

4. ทักษะการดูแลสุขภาพคือความสามารถในการดูแลสุขภาพของตัวเอง “ในฐานะที่เราเป็นครู เราเน้นเรื่องการับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ล้างมือก่อนอาหาร รวมถึงให้เด็กได้รับการปลูกฝังในใจว่าต้องออกไปเล่นนอกบ้านด้วย พาเขาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ฝึกให้เขามีใจรักการออกกำลังกาย เขาก็จะทราบว่าจะนั่งหน้าจอตลอดเวลาไม่ได้”

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ